
ในศตวรรษที่ 19 ฮาร์บินไม่ได้เป็นเมือง แต่เป็นแค่หมู่บ้านริมแม่น้ำซงฮัวในประเทศจีน ต่อมารัสเซียได้เข้ามาสร้างทางรถไฟเส้นทางตะวันออกของจีน ที่นี่จึงกลายเป็นเมืองศูนย์กลาง และหัวหน้าวิศวกรที่สร้างทางรถไฟคือ Alexander Yugovich ซึ่งเขาเกิดในครอบครัวชาวยิวที่เปลี่ยนมาเป็นชาวคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์
การก่อสร้างทางรถไฟได้เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 1897 และเปิดเดินรถไฟในเดือนพฤศจิกายน 1903 ในปีเดียวกันนั้นเอง ครอบครัวชาวยิวรัสเซียได้ย้ายเข้ามาอยู่ในฮาร์บินจำนวนมาก ประมาณ 500 คน ส่วนความเป็นอยู่ของชาวยิวในฮาร์บินก็ดีกว่าในรัสเซียด้วย

หลังสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น มีทหารยิวที่ปลดประจำการมาตั้งถิ่นฐานในฮาร์บินจำนวนมาก และในปี 1908 มีชาวยิวอยู่ในฮาร์บินถึง 8,000 คน ชาวยิวจึงเริ่มสร้างโบสถ์ยิว (synagogue) ขึ้นมาที่ถนน Artilleriiskaya (ปัจจุบัน คือ ถนน Tongjiang) และเรียกว่า Main Synagogue รวมทั้งยังสร้างสุสาน โรงพยาบาล และโรงเรียนขึ้นมาด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีชาวยิวหลั่งไหลเข้ามาในฮาร์บินมากถึง 10,000-15,000 คน จากการอพยพหนีสงครามโลกครั้งที่ 1 การปฏิวัติรัสเซีย และสงครามกลางเมืองรัสเซีย แต่ในปี 1939 ก็ลดลงเหลือ 5,000 คน เกิดองค์กรยิวขึ้นมามากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ ห้องสมุดยิว หรือ New Synagogue นอกจากนี้ ทั้งธนาคาร โรงแรม ร้านค้า คาเฟ่ และหนังสือพิมพ์แห่งแรกก็เกิดจากชุมชนยิว รวมทั้งนักแสดงชาวยิวเดินทางมาทำการแสดงที่นี่ จึงเป็นการเผยแพร่ดนตรีตะวันตกเข้าสู่ประเทศจีน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 1945-1947 ฮาร์บินตกอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียต หัวหน้าชุมชนชาวยิวถูกจับตัวและส่งไปโซเวียต ต่อมาในปี 1951-1953 ชาวยิวย้ายไปตั้งถิ่นฐานในอิสราเอล ช่วงนั้นจึงเป็นยุคสิ้นสุดชุมชนยิวในฮาร์บิน ส่วนอาคารต่างๆก็ถูกดัดแปลงไป เหลือเพียง New Synagogue ไว้ เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ยิวในฮาร์บิน ที่รวบรวมประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชุมชนยิวในฮาร์บิน
Photograph :
Comments