
ท่ามกลางสายหมอก ล้อมรอบด้วยภูเขาสูงและป่าไม้สีเขียว มีเมืองอันยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรอินคาซ่อนตัวอยู่ ชื่อว่า มาชูปิกชู (Machu Picchu) ไม่ว่าใครที่ได้มาเยือนเปรูก็ต้องไปมาชูปิกชูสักครั้งหนึ่ง เมืองที่เคยยิ่งใหญ่กลับหายสาบสูญไปนานหลายปี จนเพิ่งค้นพบช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก

มาชูปิกชูตั้งอยู่บนความสูง 2,430 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในหุบเขาอูรูบัมบาหรือหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ แคว้นกุสโก ประเทศเปรู ห่างจากเมืองกุสโกไป 80 กิโลเมตร โดยตั้งอยู่ระหว่างภูเขา 2 ลูก คือ ภูเขามาชูปิกชู และภูเขาไวนาปิกชู (Huayna Picchu) มีแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ขาดแคลน

ชื่อ มาชูปิกชู มาจากภาษาเกชัว (Quechua) โดยคำว่า machu (มาชู) หมายถึง เก่า โบราณ หรือคนแก่ และคำว่า pikchu (ปิกชู) หมายถึง ส่วนของต้นโคคาที่เคี้ยวได้ หรือ พีระมิด หรือ รูปกรวย เมื่อรวมกันแล้วจึงหมายถึง ภูเขาเก่าแก่

นักโบราณคดีส่วนมากเชื่อว่ามาชูปิกชูสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ปาชากูติ (Pachacuti) แห่งอินคาในปี 1450 แต่ถูกทิ้งร้างไปช่วงอาณานิคมสเปน แม้ว่าชาวพื้นเมืองจะรู้ดีว่ามีเมืองมาชูปิกชูตั้งอยู่ แต่ดูเหมือนว่าทหารสเปนไม่เคยรู้เลยและไม่เคยมายังมาชูปิกชูด้วย ทำให้คนภายนอกไม่มีใครรู้ว่ามีเมืองนี้อยู่ จนกระทั่งไฮแรม บิงแฮม (Hiram Bingham) นักโบราณคดีชาวอเมริกาเดินทางมาพบเมืองนี้เข้าในปี 1911 เลยเปิดเผยให้โลกรู้ เมืองมาชูปิกชูจึงถูกเรียกว่า นครสาบสูญ

ผังเมืองมาชูปิกชูจะแบ่งออกเป็นส่วนตัวเมือง ส่วนการเกษตร ส่วนเมืองชั้นบน และส่วนเมืองชั้นล่าง
เมืองชั้นบน ประกอบด้วย Intihuatana, Temple of the Sun และ Room of the Three Windows สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า Inti ซึ่งเป็นเทพเจ้าสุริยะและเทพเจ้าสูงสุด
เมืองชั้นล่าง เป็นที่พักอาศัยของชาวเมืองและเป็นห้องเก็บเสบียง
ตัวเมือง ที่พักอาศัยของกษัตริย์และชนชั้นสูง
พื้นที่การเกษตร เป็นขั้นบันไดสำหรับการเพาะปลูก

Temple of the Sun หรือวิหารแห่งสุริยะ ซึ่งมีชื่อเหมือนกับวิหารแห่งสุริยะในเมืองกุสโกและเมืองปิแซก (Pisac) สร้างขึ้นด้วยเทคนิค ashlar โดยทำให้หินแต่ละก้อนให้ต่อกันได้พอดีและไม่ใช้ปูนในการเชื่อมต่อ ซึ่งต่อกันได้พอดีมากๆ แม้แต่ใบมีดบางๆยังเสียบผ่านไม่ได้

Intihuatana หรือ อินติวานา หินบอกเวลา ซึ่งเป็นนาฬิกาแดดและปฎิทินของอินคา หินนี้สามารถบอกช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุดได้ด้วย วันนั้นจะเป็นวันที่แดดส่องหินนานที่สุด ซึ่งชาวอินคาจะทำพิธีผูกพระอาทิตย์ไว้กับหิน เพื่อไม่ให้พระอาทิตย์เคลื่อนที่ออกไป

การทำสวนปลูกพืชแบบขั้นบันไดในมาชูปิกชู มีการระบายน้ำได้ดีและช่วยให้ดินดีมีความอุดมสมบูรณ์ แล้วยังช่วยป้องกันดินถล่มได้ด้วย สร้างขึ้นจากแรงงานชาวอินคาหลายร้อยขั้น โดยแต่ละขั้นจะแบ่งออกเป็นชั้น ชั้นล่างสุดเป็นหินขนาดใหญ่ โรยหินกรวดคลุมด้านบน ชั้นต่อมาผสมระหว่างทรายและหินกรวด แล้วจึงปิดคลุมด้วยดิน แม้จะมีฝนตกมากแต่การระบายน้ำก็ทำได้ดีเยี่ยม ส่วนมากปลูกข้าวโพดและมัน

การเดินทางไปมาชูปิกชูมีหลายวิธี ทั้งเทรคกิ้ง (Trekking) เดินเท้าไปตามเส้นทางอินคา (Inca Trail) ชมธรรมชาติสวยๆระหว่างทาง ซึ่งอาจใช้เวลานานหลายวันและต้องเตรียมร่างกายมาอย่างดี หรือจะไปรถบัส รถตู้ และวิธีที่คนนิยมกันมากก็คือ การนั่งรถไฟชมธรรมชาติข้างทางแบบ 360 องศา แล้วไปลงหมู่บ้าน Aguas Calientes หลังจากนั้นต่อด้วยรถบัสหรือเดินขึ้นไปยังมาชูปิกชู



Comentarios